เพศศึกษา หลายคนมองว่าเพศศึกษาเป็นเรื่องของเด็กที่เริ่มมีการเติบโตของร่างกายและฮอร์โมน อย่างเด็กในวัย 12 ปีเป็นต้นไป แต่แท้จริงแล้วเพศศึกษาแวดล้อมด้วยหลากหลายมุม และไม่ต้องรอให้โตก่อนถึงจะทำความเข้าใจได้ ในหน้านี้เราจึงอยากมาแนะนำเกี่ยวกับเรื่องของเพศศึกษาที่เราควรจะคุยกับเด็กหรือวัยรุ่นยังไง เนื้อหาจะมีอะไรบ้างนั้นเรามาดูกันเลย

เพศศึกษา กับ เด็กและเยาวชน

แทบทุกครั้งที่ข่าวเรื่องเพศปรากฏในสังคม ไม่ว่าจะเป็นเหตุล่วงละเมิดทางเพศ ข่าวการท้องไม่พร้อม และการรับมือด้วยวิธีที่ไม่ปลอดภัย ไปจนถึงการเลือกปฏิบัติกับผู้มีความหลากหลายทางเพศ สิ่งหนึ่งที่ผู้คนมักจะเอ่ยตามมาติดๆ คือการสอนเพศศึกษา — ก็เพราะไม่สอน ก็เพราะสอนไม่ถูก ถึงเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ค่านิยมที่ปลูกฝังผ่านวาจา และผ่านการกระทำที่แสดงออกว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องต้องห้าม เป็นเรื่องผิด กระทั่งเป็นเรื่องน่าเกลียดที่จะพูดอย่างตรงไปตรงมา ส่งผลให้หลายคนมองว่า ‘เด็ก’ กับ ‘เรื่องเพศ’ เป็นสองสิ่งที่ควรจับแยกให้ห่างกันเพื่อปกป้องความไร้เดียงสาของเด็กไว้ ขณะที่หลายคน แม้จะเชื่อว่าการสร้างความเข้าใจเรื่องเพศตั้งแต่เยาว์วัยเป็นเรื่องจำเป็น แต่การสื่อสารเรื่องนี้กับเด็กน้อยและเหล่าวัยรุ่นนั้นก็ไม่ง่ายอยู่ดี

ก็คงเหมือนอีกหลายร้อยเรื่องบนโลกใบนี้ เพศศึกษามีรายละเอียดให้ทำความเข้าใจ อาบดูซับซ้อนและไม่คุ้นเคยบ้าง แต่การเรียนรู้เรื่องนี้ก็เป็นการเดินทางที่มีวิวหลากหลายให้เปิดรับชม หลายเส้นทางให้เลือกใช้ เพื่อนำไปสู่ปลายทางเดียวกันคือการสร้างสังคมที่ปลอดภัย และมีความเข้าใจเรื่องเพศ

เพศศึกษา กับ เด็กแต่ละวัย พูดทำไม และพูดอย่างไรบ้าง?

หลายคนอาจมองว่าเพศศึกษาเป็นเรื่องของวัยรุ่น พูดให้ชัดกว่านั้น เป็นเรื่องของเด็กที่เริ่มมีการเติบโตของร่างกายและฮอร์โมน อย่างเด็กในวัย 12 ปี เป็นต้นไป แต่แท้จริงแล้ว หลักสูตรการสอนเพศศึกษาแบบที่เรียกว่า ‘เพศวิถีศึกษารอบด้าน’ (Comprehensive Sexuality Education) นิยามว่าการสอนเรื่องเพศไม่ใช่แค่เรื่องเซ็กซ์ แต่ยังแวดล้อมไปด้วยหลายองค์ประกอบ ตั้งแต่การเท่าทันตัวเองในเรื่องเพศทั้งกายและใจ การสร้างทางเลือกที่ปลอดภัยในการมีเซ็กซ์ การมีความรับผิดชอบในวิถีทางเพศของตัวเอง ไปจนถึงความรู้สึก ‘ภูมิใจ’ ในเพศที่ตัวเองเป็น 

เพศศึกษาที่แวดล้อมด้วยหลากหลายมุมจึงเป็นเรื่องของคนหลากวัย ไม่จำเป็นต้องรอให้ ‘โต’ ก่อนถึงจะทำความเข้าใจได้

เด็กอายุ 0-2 ปี :

คอรี่ ซิลเวอร์เบิร์ก ผู้เชี่ยวชาญด้านเพศศึกษาและเจ้าของหนังสือเรื่องเพศ กล่าวว่า เรื่องเพศเข้ามามีบทบาทตั้งแต่ในเด็กวัยที่อาจยังพูดไม่แข็งแรง หรือช่วงอายุ 0-2 ปี เด็กวัยนี้จะมีกายภาพที่เติบโตขึ้น พ่อแม่หลายคนจึงต้องเริ่มอธิบายว่าอวัยวะต่างๆ ของร่างกายคืออะไร เรียกว่าอะไร นั่นรวมไปถึงอวัยวะเพศด้วย 

ในประเด็นนี้ซิลเวอร์เบิร์กแนะนำว่าพ่อแม่ควรสอนลูกให้ใช้คำที่ถูกต้อง แม้คำศัพท์กายวิภาค เช่น องคชาต ช่องคลอด อวัยวะเพศหญิง ก้น ไปจนถึงหัวนม อาจฟังดูน่ากลัว แต่พ่อแม่ควรทำตัวสบายๆ ไม่ต่างจากเวลาพูดถึงแขนและขา โดยอีกหนึ่งเหตุผลที่ต้องพูดชื่อกันอย่างตรงไปตรงมา ก็เพื่อให้เด็กๆ ใช้คำเหล่านี้สื่อสารได้เมื่อพวกเขาได้รับบาดเจ็บหรือมีปัญหาสุขภาพ

ยิ่งไปกว่านั้น ผู้เชี่ยวชาญบางคนยังแนะนำให้หลีกเลี่ยงการเชื่อมโยง ‘ชีววิทยาทางเพศ’ เข้ากับ ‘เพศ’ พูดง่ายๆ ก็คือ ไม่ใช่ผู้ชายทุกคนจะมีอวัยวะเพศชาย หรือเด็กผู้หญิงทุกคนมีอวัยวะเพศหญิง การระมัดระวังวิธีพูดในช่วงวัยนี้จะช่วยปูรากฐาน ทำให้บทสนทนาเกี่ยวกับบทบาทและอัตลักษณ์ทางเพศในอนาคตเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น

เด็กอายุ 2-5 ปี :

เมื่ออายุ 2 ปีขึ้นไป เป็นช่วงที่สามารถพูดถึงเวลาและสถานที่ที่เหมาะสมในการสำรวจร่างกายของตัวเอง หากเด็กในวัยนี้เริ่มสัมผัสอวัยวะเพศของตัวเอง (ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้สูง) ก็ถือโอกาสนี้ในการอธิบายว่าร่างกายส่วนนี้เราจะสำรวจในพื้นที่ส่วนตัว เช่น ในห้องน้ำหรือนอนของเด็กๆ เท่านั้น ที่สำคัญคือ การพูดเรื่องนี้ต้องทำอย่างอ่อนโยนไม่ให้เด็กๆ รู้สึกว่าพวกเขากำลังทำอะไรผิดด้วย

ในเด็กอายุ 2-5 ปี สิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ได้ในวัยนี้คือ อะไรคือขอบเขตเมื่อถูกสัมผัสหรือแตะต้องโดยคนอื่น อะไร ‘ควร’ และ ‘ไม่ควร’ ซึ่งถือเป็นพื้นฐานเรื่องความยินยอมพร้อมใจ (Consent) ที่สำคัญอย่างยิ่งในคนทุกวัย ซิลเวอร์เบิร์กแนะนำว่า ให้ลองทำความเข้าใจเรื่องนี้ขณะที่พ่อแม่ทำกิจกรรมที่ต้องสัมผัสตัวกับลูก เช่น เวลาเล่นจั๊กจี้ ก็ลองให้เด็กๆ ได้ยืนยันขอบเขตของร่างกายตัวเองและเรียนรู้การปฏิเสธ หรือการสื่อสารว่าเวลาไหนที่เด็กๆ สามารถปีนตักของพ่อแม่ได้ และเวลาไหนที่ไม่ได้ เป็นต้น

นอกจากนี้ เด็กๆ อาจเริ่มอยากรู้อยากเห็นเกี่ยวกับร่างกายของตัวเองและคนอื่น ยิ่งเมื่อการเจริญเติบโตทำให้แต่ละคนมีกายภาพที่แตกต่างกัน วัยดังกล่าวจึงเป็นวัยที่ควรอธิบายการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ ของร่างกาย อีกทั้งบอกกับเด็กๆ ว่า คนอื่นไม่ควรขอ หรือพยายามแตะต้องอวัยวะเพศของพวกเขา และพวกเขาสามารถพูดออกมาได้ทุกเมื่อหากมีใครพยายามทำเช่นนั้น กระทั่งเคยทำแบบนั้นไปแล้วในอดีต

แน่นอน เด็กในวัยนี้อาจมีคำถามยอดฮิตที่พ่อแม่หลายคนเจอนั่นคือ ‘หนูเกิดมาได้อย่างไร’ ในต่างประเทศถึงกับมีหนังสือที่ชื่อว่า ‘What Makes a Baby’ เพื่อช่วยพ่อแม่เกี่ยวกับการตอบคำถามนี้ โดยผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าคำตอบที่ง่ายและเวิร์กที่สุดสำหรับคำถามยอดฮิตนี้คือ “มีหลายวิธี” โดยให้เราพิจารณาว่าเด็กๆ จะทำความเข้าใจรายละเอียดที่มากไปกว่านั้นได้มากน้อยแค่ไหน คุณอาจปรับแต่งรายละเอียดในการเล่าให้เข้ากับบริบทครอบครัวของตัวเอง หรืออาจเปรยว่าผู้ใหญ่สองใกล้ชิดกันทางร่างกาย ‘ไข่’ และ ‘อสุจิ’ ในร่างกายนั้นสามารถทำให้เกิดเด็กเหมือนกับลูกได้ โดยคุณสามารถสื่อสารกับเด็กๆ ได้ว่าจะทำความเข้าใจเรื่องนี้กับเขาแบบลงรายละเอียดมากขึ้นในภายหลัง เพียงแต่สิ่งสำคัญคือการไม่โกหก — ไม่ใช่การบอกเขาว่าเกิดจากกระบอกไม้ไผ่

อีกสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือการอธิบายให้เด็กๆ เข้าใจว่าการกำเนิดนั้นเป็นเพียงหนึ่งในหลายๆ วิธีสร้างครอบครัว การสื่อสารเช่นนี้จะทำให้เด็กเข้าใจว่าครอบครัวไม่จำเป็นต้องมีแค่พ่อ แม่ ลูก หรือไม่จำเป็นต้องมีพ่อที่เป็นผู้ชาย แม่ที่เป็นผู้หญิง แล้วในที่สุด เขาจะเข้าใจเรื่องเหล่านี้โดยธรรมชาติ

เด็กอายุ 6-8 ปี :

เมื่อเข้าสู่วัย 6-8 ปี อาจถึงคราวที่ต้องพูดเรื่องการสำรวจพื้นที่ทางดิจิทัล สิ่งหนึ่งคนผู้ใหญ่มักกลัวคือการสำรวจเรื่องเพศในโลกอินเทอร์เน็ต รวมไปถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นผ่านโลกออนไลน์ การกำหนดกฎเกณฑ์ในการพูดคุยกับคนแปลกหน้า และการแชร์รูปภาพทางออนไลน์นับเป็นเรื่องสำคัญในวัยนี้ ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า คุณอาจไม่จำเป็นต้องอธิบายภาพลามกอนาจารให้เด็กๆ ฟัง แต่ต้องเตรียมพร้อมหากพวกเขาเข้าถึงเว็บไซต์ประเภทนี้ และต้องพร้อมอธิบายอย่างใจเย็น ไม่จำเป็นต้องนำเสนอภาพลามกอนาจารว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่ต้องระบุว่าเว็บไซต์ประเภทนี้สำหรับผู้ใหญ่เท่านั้น

อีกเรื่องที่สามารถพูดให้ชัดเจนขึ้นได้คือการล่วงละเมิดทางเพศ การเรียนรู้เรื่องที่ไม่สวยงามและความจริงอันโหดร้ายเป็นส่วนสำคัญของการเติบโต เด็กๆ รับรู้เรื่องเหล่านี้เพื่อปกป้องตัวเองหรือช่วยเหลือเพื่อนที่ประสบปัญหาการล่วงละเมิด โดยอาจเริ่มจากการทบทวนว่าไม่ควรมีใครแตะต้องพวกเขาโดยไม่ได้รับอนุญาต ระหว่างการทบทวนอาจคอยสังเกตว่าเด็กๆ เข้าใจและรู้สึกอย่างไร หากเด็กๆ อารมณ์เสียหรือสับสน หัวข้อนี้อาจเลื่อนไปก่อนจนกว่าพวกเขาจะโตขึ้น 

และในวัยที่เริ่มเติบใหญ่ อาจถึงเวลาที่จะอธิบายเกี่ยวกับร่างกายของพวกเขามากขึ้น โดยเฉพาะการเริ่มเข้าสู่ภาวะหนุ่มสาว (Puberty) อาจเริ่มจากบทสนทนาง่ายๆ เกี่ยวกับร่างกายที่เปลี่ยนไป หรือการเปรียบเทียบภาพถ่ายของเด็กๆ ในสมัยก่อนกับปัจจุบัน เพื่อให้พวกเขาสำรวจความเปลี่ยนแปลงของตัวเอง 

ส่วนสำคัญคือจังหวะเวลาของการพูดเรื่องนี้ ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าควรเริ่มพูดเมื่อเพื่อนของเด็กๆ มีความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายเหมือนกัน ไม่เช่นนั้น พวกเขาอาจจะรู้สึกแปลกแยกและไม่เข้าใจว่าผู้ใหญ่กำลังพูดถึงอะไร และเพื่อให้การสนทนานี้ง่ายขึ้น อาจลองหาหนังสือสำหรับเด็กที่อธิบายเรื่องนี้มาเป็นตัวช่วย และพูดคุยกับพวกเขาเป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่อง

เด็กอายุ 9-12 ปี :

ในวัย 9-12 ปี เป็นเวลาที่ดีที่จะพูดเรื่องที่ลึกซึ้งขึ้นเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ ไปจนถึงการกีดกันหรือเหมารวมทางเพศ อาจเริ่มพูดคุยโดยยกตัวอย่างสิ่งที่พบในสื่อหรือแม้แต่ในชุมชนที่เด็กคุ้นเคย เช่น ผู้ใหญ่ที่คิดว่าเด็กผู้ชายต้องไว้ผมสั้นเท่านั้น ผู้ใหญ่ที่คาดหวังให้เด็กผู้หญิงเรียบร้อยเหมือนผ้าพับไว้ ทั้งหมดเพื่อจุดประกายการสนทนาและกระบวนการคิด พร้อมกันนั้นก็เป็นการสนับสนุนให้เด็กๆ ค้นหาตัวเองโดยไม่จำกัดกรอบ หรืออาจชี้ให้เห็นตัวอย่างเชิงบวกของคนที่เอาชนะทัศนคติแบบเหมารวมทางเพศไปด้วยก็ได้

นอกจากนี้ยังเป็นวัยที่สามารถเริ่มเรียนรู้เรื่องอารมณ์ความรู้สึก ไปจนถึงเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย นาดีน ทอนฮิลล์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเพศศึกษาจากแคนาดา ผู้เป็นแม่ของเด็กสาววัย 11 ปี แบ่งปันประสบการณ์ของเธอว่า ในฐานะแม่เธอเองก็รู้สึกอ่อนไหวเมื่อต้องพูดถึงประเด็นเพศสัมพันธ์กับลูก แต่ขณะเดียวกันมันก็เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะเด็กและวัยรุ่นจะตัดสินใจเลือกได้ดีขึ้นเมื่อพวกเขารู้ถึงความเสี่ยงต่างๆ และเข้าใจทางเลือกที่มี เช่น วิธีพื้นฐานในการคุมกำเนิด

โดยทั่วไปแล้วเด็กกลุ่มนี้จะเริ่มมีอิสระและโลดแล่นในโลกออนไลน์มากขึ้น จึงเป็นความคิดที่ดีที่จะพูดคุยเกี่ยวกับความปลอดภัยทางอินเทอร์เน็ตอีกครั้ง แต่วัยนี้อาจทำได้อย่างตรงไปตรงมามากขึ้น เช่น อธิบายว่าการแชร์ภาพเปลือยหรือภาพทางเพศที่โจ่งแจ้งของตนเองหรือเพื่อนฝูงนั้นผิดกฎหมาย หรือลองตั้งคำถามกับเด็กๆ ว่า ‘การให้เกียรติผู้อื่นบนโซเชียลมีเดียคืออะไร และทำอย่างไรได้บ้าง’ หากมีข่าวเกี่ยวกับเรื่องเซ็กซ์ หรือการกลั่นแกล้งออนไลน์โผล่มา ก็ให้ใช้ประเด็นเหล่านี้เทียบเคียงกับตัวเด็กๆ เอง เช่นการถามว่า หากสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นกับพวกเขาจริง จะจัดการอย่างไร

เด็กและวัยรุ่นอายุ 12 ปีขึ้นไป :

สุดท้าย ช่วงวัย 12 ปีขึ้นไป เป็นวัยที่ข้อมูลเกี่ยวกับเพศศึกษามักจะพุ่งเข้ามาอย่างมากมาย ในขณะที่โรงเรียนก็อาจเริ่มมีบทบาทในการสอนเรื่องเพศมากยิ่งขึ้น — หากไม่นับว่าโรงเรียนสอนพวกเขาอย่างไร เรื่องสำคัญที่วัยรุ่นควรทำความเข้าใจคือการให้ความยินยอมและไม่ยินยอมในเนื้อตัวร่างกาย การคุมกำเนิดและทางเลือกที่ปลอดภัย ความหลากหลายทางเพศ ไปจนถึงเรื่องที่ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น เช่น ความสัมพันธ์ที่ดีและไม่ดีต่อตัวพวกเขา กระทั่งความกดดันและความรุนแรงอื่นๆ ในความสัมพันธ์ ฯลฯ พูดให้ถึงที่สุด เด็กในวัยนี้ควรมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งขึ้นในทุกๆ เรื่องที่พูดมาตั้งแต่วัย 0-11 ปี

โลกนี้สอนเพศศึกษากันไปถึงไหน?

หลายคนคงได้ยินมาหลายต่อหลายครั้งว่า เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นและได้เริ่มเรียนวิชาเพศศึกษา บางคนได้เรียนเรื่องเพศสัมพันธ์ผ่านอุปกรณ์ ‘สมมติ’ นานาชนิดของคุณครู

บางคนอาจได้เรียนรู้ว่ามัน ‘ไม่ดี’ ‘ไม่ควร’ ก่อนได้เรียนรู้ว่าพวกเขามีทางเลือกอะไรบ้าง

บางคนได้เข้าใจเรื่องการจัดการ ‘ปัญหา’ มากกว่าการเรียนรู้ธรรมชาติของชีวิต

และบางคนก็พบว่าบทเรียนเหล่านั้นปราศจากอัตลักษณ์ และประสบการณ์ของผู้มีความหลากหลายทางเพศ อย่างที่พวกเขาเป็น

แต่โลกใบนี้ยังมีเรื่องราวของการเรียนเพศศึกษาที่ต่างออกไป ยังมีการเรียนที่ทำให้เรื่องเพศเป็นเรื่องของทุกคน และง่ายขึ้นสำหรับเด็กและวัยรุ่นที่จะกลายเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต

ที่โรงเรียน St Matthew’s ในสหราชอาณาจักร องค์กรการกุศลเกี่ยวกับ LGBTQ มีบทบาทในการสอนเรื่องทัศนคติทางเพศที่ท้าทายในวิชาเพศศึกษาของโรงเรียน พวกเขาตั้งคำถามกับนักเรียนในวัย 9-10 ปีว่า คิดว่าการเหมารวมทางเพศเกิดขึ้นได้อย่างไร เป็นความจริงหรือไม่ และทำให้เด็กๆ รู้สึกอย่างไร ซึ่งคำตอบของเด็กๆ นั้นปะปนไปทั้งโกรธ เสียใจ และอึดอัด การเปิดคลาสด้วยคำถามเช่นนี้ถือเป็นโอกาสที่ทำให้เด็กบางคนได้เล่าประสบการณ์ของตัวเองด้วย

นอกจากเรื่องการเหมารวมทางเพศ พวกเขาจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของร่างกายตัวเอง ตั้งแต่การมีขนในบริเวณลับ จุดด่างดำ ฯลฯ ผ่านการใช้หนังสือภาพสำหรับเด็ก โดยครูจะให้พวกเขาอ่านออกเสียงไปพร้อมกัน จากนั้นก็จะถามเด็กๆ ในห้องเรียนว่าพวกเขารู้สึกอย่างไรเมื่อพบว่าร่างกายตัวเองกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยย้ำกับเด็กๆ ว่าสามารถแสดงความรู้สึกได้อย่างปลอดภัย เมื่อนักเรียนช่วยกันตอบและเห็นว่าไม่ใช่แค่ตัวเองที่รู้สึกกังวล รู้สึกเหมือนผิดปกติ กระทั่งรู้สึกหลงทาง พวกเขาจึงค่อยๆ เรียนรู้ว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นเรื่องธรรมชาติและพวกเขาไม่ได้เผชิญมันอย่างโดดเดี่ยว

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของเด็กๆ ในลิ้นชักที่โต๊ะของคุณครูก็จะมีผ้าอนามัยที่เด็กผู้หญิงสามารถหยิบไปใช้ฟรีไว้ให้ด้วย ถือเป็นเรื่องน่ารักๆ ที่สร้างพื้นที่ปลอดภัยระหว่างครูและนักเรียน

ในเนเธอร์แลนด์มีการเรียนการสอนเพศวิถีศึกษา (Sexuality Education) ซึ่งเป็นหลักสูตรที่รัฐบาลบังคับใช้ตามกฎหมายกับโรงเรียนประถมศึกษาทั่วประเทศ ตามแนวทางเพศศึกษารอบด้าน หลักสูตรนี้จะให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศ การยืนหยัดเพื่อตนเองในเรื่องเพศ ไปจนถึงเรื่องความรักความสัมพันธ์

ในห้องเรียนของเด็กอายุ 4 ขวบที่โรงเรียนประถมเล็กๆ ชื่อ St.Jan de Doper School คุณครูกับนักเรียนพูดคุยกันถึงวิธีแสดงความรัก คุณครูใช้ภาพการ์ตูนแม่จิงโจ้ที่กำลังอุ้มลูกน้อย เพื่อถามนักเรียนว่า ‘เมื่อไหร่ที่เราอยากจะกอดใครสักคน’ จากนั้นเด็กๆ ก็จะแย่งกันยกมือ เพื่อตอบว่า ‘เวลาเรารักใครสักคน’ ทั้งยังช่วยกันคิดว่าเวลารักใครสักคนแล้ว เราปฏิบัติกับเขาอย่างไรได้บ้างเพื่อแสดงความรู้สึก

กระทั่งเด็กวัยเล็กกว่านั้น อย่างเด็กอนุบาล พวกเขาจะได้ฝึกขบคิดเกี่ยวกับเรื่องความใกล้ชิด เช่น ความใกล้ชิดแบบใดที่ทำให้พวกเขารู้สึกดี ความใกล้ชิดแบบใดให้ความรู้สึกแย่

ไม่ใช่แค่ประเทศในฝั่งยุโรปเท่านั้นที่มีความพยายามสอนเพศศึกษาด้วยวิธีต่างๆ แม้แต่ในประเทศที่อาจยังมีปัญหาเรื่องเพศอยู่บ้าง เราก็สามารถเห็นตัวอย่างของการสอนเพศศึกษาที่ทันสมัยได้

ที่อินโดนีเซีย ประเทศที่พบปัญหาเรื่องการไม่คุมกำเนิดของคู่รักที่ยังไม่แต่งงาน และข้อจำกัดเรื่องการทำแท้ง มีองค์กรนานาชาติที่ชื่อว่า Rutgers ไปดำเนินการสอนเพศศึกษาในโรงเรียนหลายแห่ง พวกเขาสร้างโครงการที่เหมาะกับเด็กอายุ 12-14 ปี เพื่อสื่อสารเรื่องอารมณ์ความสัมพันธ์ ไปจนถึงปัญหาเรื่องเพศ โดยมักใช้ ‘เกม’ ในการเรียนการสอน

เช่นโรงเรียนแห่งหนึ่งในเซมารัง เด็กๆ ได้เรียนรู้ส่วนต่างๆ ของร่างกายผ่านการที่นักเรียนนำภาพอวัยวะส่วนต่างๆ ไปแปะบนร่างกายของเพื่อนร่วมชั้นที่สวมใส่ผ้ากันเปื้อนไว้ เพื่อเป็นการเรียนรู้ร่างกายของเราเอง เด็กบางคนแบ่งปันความรู้สึกว่าในตอนแรก เธอรู้สึกขยะแขยงกับภาพและไม่กล้าพูดถึง ‘อวัยวะเพศ’ แต่พวกเขารู้สึกเปลี่ยนไปหลังทำกิจกรรมในห้องเรียน และรู้สึกว่านี่คือธรรมชาติของร่างกาย

นอกจากนี้ยังมีบทเรียนเกี่ยวกับการแสดงออกความเป็นตัวเอง โดยคุณครูจะให้นักเรียนเวียนกันออกมาหน้าชั้น แล้วแสดงสีหน้าที่คิดว่าอธิบายอารมณ์หรือความเป็นตัวเองได้ดีที่สุด กิจกรรมง่ายๆ นี้ช่วยให้เด็กๆ สนุกสนานพร้อมกับสร้างความคิดที่ว่า ‘ไม่ใช่เรื่องผิด ที่จะเป็นตัวของตัวเอง’ ไปพร้อมกัน

อย่างไรก็ตาม ช่วงหลายปีก่อนองค์กร Rutgers ถูกพรรคอนุรักษนิยมของอินโดนีเซียบังคับให้ต้องปรับเปลี่ยนหลักสูตรหลายครั้ง เช่น ต้องเอาคำว่า sex ออกจากชื่อเรื่อง ต้องขูดปกหนังสือที่มีสีสันสดใสออกหลังจากที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าลักษณะเหมือนธงสีรุ้งของ LGBT กระทั่งต้องวาดภาพอวัยวะเพศในหนังสือใหม่ หลังจากถูกวิจารณ์ว่าใหญ่และมีขนมากเกินไป เป็นต้น ถึงแม้จะมีแรงต้านลักษณะนี้ทั้งจากพรรคอนุรักษนิยม ผู้ปกครอง หรือคุณครูบางท่าน แต่นักเรียนที่ได้เรียนในหลักสูตรนี้ก็ยืนยันว่าพวกเขาไม่ต้องการให้หยุดบทเรียนเพศศึกษาแบบดังกล่าวเลยแม้แต่น้อย

ในยูกันดา ประเทศที่เคยลงนามในกฎหมายต่อต้านคนรักเพศเดียวกัน (ซึ่งเป็นกฎหมายที่ถูกทำลายโดยศาลรัฐธรรมนูญในเวลาต่อมา) และการพูดคุยเรื่องการคุมกำเนิดเป็นเรื่องต้องห้าม หน่วยงานระหว่างประเทศชื่อ Soccer Without Borders ก็ได้ร่วมมือกับองค์กรสุขภาพทางเพศ Tackle Africa เพื่อใช้ฟุตบอลสอนเด็กๆ เกี่ยวกับเรื่องเพศ ทั้งเรื่องการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย สุขภาพการเจริญพันธุ์ และความยินยอม

นักเรียนบางคนที่องค์กรสอนเป็นเด็กที่ลี้ภัยมาจากประเทศในแถบใกล้กัน เช่น คองโก โดยหลายคนไม่เคยได้รับการสอนเพศศึกษามาก่อนเลย แต่เมื่อเล่นฟุตบอล ผู้สอนจะเชื่อมโยงการเล่นเข้ากับเพศสัมพันธ์ ทุกการเลือกเตะ ยิงประตู กระทั่งส่งบอลต่อให้เพื่อน จะถูกผูกโยงกับทางเลือกในการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย พวกเขายังใช้วลี ‘Play Sex’ เพื่ออธิบายเปรียบเทียบเพศสัมพันธ์กับการเล่นฟุตบอลว่า เมื่อคุณตัดสินใจมีเซ็กซ์ คุณต้องทำงานและรับผิดชอบร่วมกับคนที่คุณมีเพศสัมพันธ์ด้วย


สรุป

แม้จะเต็มไปด้วยข้อจำกัดที่แตกต่างกัน แต่ตัวอย่างจากนานาประเทศก็ทำให้เห็นว่าการสร้างความเข้าใจรอบด้านเกี่ยวกับเพศเป็นเรื่องสำคัญ และควรค่าแก่การต่อสู้ ทั้งยังทำให้เราเห็นความเป็นไปได้ของการที่เพศศึกษาจะอยู่ในชีวิตของเด็กและเยาวชนอย่างปลอดภัย และทำให้พวกเขาเข้าใจตัวเองและผู้อื่นไปพร้อมกัน